Gold Field Refinery <
ข่าวเศรษฐกิจและการลงทุน

      วันมาร์ติน ลูเธอร์ คิง คืออะไร?

วันมาร์ติน ลูเธอร์ คิง คืออะไร?

 

Martin Luther King เสียงปืนที่เปลี่ยนแปลงอเมริกา

 

แม้ในปี 1863 ประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น จะประกาศเลิกทาสอย่างเป็นทางการแล้ว ไม่มีใครเป็นทาสแบบผิดกฎหมายอีกต่อไป แต่ในศตวรรษที่ 19 อเมริกาก็ยังมีกฎหมายแบ่งแยกประชากรด้วยสีผิวอย่างชัดเจน ทั้งการนั่งรถประจำทาง สถาบันการศึกษา การแต่งงาน การเข้าโบสถ์ การเสียภาษี ฯลฯ ไม่ใช่กฎหมายเท่านั้นที่เป็นตัวแบ่งแยกประชาชนระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวดำ สังคมอเมริกัน (ยุคนั้น) คนผิวดำมักไม่ได้รับการปฏิบัติที่ดีเท่าที่ควรนัก เช่น สมมติว่าคนผิวดำนั่งอยู่บนรถเมล์ก่อน หากมีคนผิวขาวขึ้นมาทีหลังคนผิวดำต้องลุกให้คนผิวขาวนั่งและไปนั่งที่นั่งด้านหลังที่เป็นที่นั่งเฉพาะของคนผิวดำ หากคนผิวดำไม่ยอมลุกมักถูกด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคายจากคนขับรถโดยสาร หรือถ้าคนผิวดำไปทำงานในตำแหน่งเดียวกับคนผิวขาว คนผิวดำมักได้ค่าแรงน้อยกว่าทั้งๆ ที่ทำงานตำแหน่งเดียวกันระยะเวลาเท่ากัน เวลาเด็กผิวดำไปโรงเรียนเด็กเหล่านั้นมักถูกเด็กผิวขาวดูแคลนและรังแกบ่อยๆ

ซึ่งในปี 1955 ที่เมืองมอนตโกเมอรี่ นางโรซา ปาร์คส์ ขึ้นรถประจำทางแต่ไม่ยอมลุกให้คนผิวขาวนั่ง คนขับรถเมล์สั่งให้นางโรซา ปาร์คลุก แต่เธอปฏิเสธ เมื่อคนขับรถเมล์สั่งแล้วไม่ทำตาม นางโรซา ปาร์ค จึงถูกตำรวจจับกุมและกักขัง เหตุการณ์สร้างความไม่พอใจแก่กลุ่มคนผิวสีมากยิ่งขึ้น

ในตอนนั้นเองมาร์ติน ลูเธอร์ คิง เป็นหมอสอนศาสนาในเมืองมอนตโกเมอรี่ เขาเป็นคนมีวาทศิลป์ดีเยี่ยม เรียนจบปริญญาเอก และทำงานให้กับโบสถ์ คิงให้ความสนใจด้านสังคมและการเมืองมากเขาจึงจัดตั้งคณะกรรมการด้านสังคมและการเมืองในโบสถ์ พอเกิดคดี โรซี ปาร์ค กลุ่มคนผิวสีจึงรวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวทางสังคม โดยการจัดตั้ง ‘สมาคมปรับปรุงมอนตโกเมอรี่’ และมาร์ติน ลูเธอร์ได้รับเลือกให้เป็นประธานสมาคมนี้

คิงเริ่มใช้เวทีการประชุมใหญ่เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิพลเมืองให้ประชาชนผิวดำ คิงเป็นตัวแทนการเรียกร้องสิทธิพลเมืองที่รู้จักไปทั้งประเทศ เขาถูกคุมขังมากกว่า 20 ครั้ง เคยถูกแทงที่หน้าอก บ้านเคยถูกวางระเบิด นอกจากนี้ ทั้งเขาและครอบครัวก็โดนทำร้ายนับครั้งไม่ถ้วน สำหรับชายที่ต้องการต่อสู้อย่างไร้ความรุนแรง ชีวิตส่วนใหญ่ของเขากลับตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงอย่างไม่ว่างเว้น แต่กระนั้น การคุกคามไม่เคยหยุดเขาได้

คิงทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเพื่อส่งเสริมในสิ่งที่เขาเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า และตั้งแต่ 1957-1968 เขาเดินทางเป็นระยะทางกว่า 6 ไมล์ กล่าวสุนทรพจน์ 250,000 ครั้ง เขียนหนังสือ 5 เล่ม และบทความอีกมากมาย การทำงานหนักและความสามารถในการสื่อสารของเขาทำให้เขาเป็นที่นับถือมาก จนประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคเนดี้ ยังยอมให้เขาเข้าพบเป็นการส่วนตัวด้วย

จนกระทั่งวันที่ 28 สิงหาคม ปี 1963 เขาตัดสินใจเดินทางไปกรุงวอร์ชิงตันที่อนุสาวรีย์ประธานาธิบดีลินคอล์นเพื่อกล่าวปราศรัยครั้งใหญ่ การชุมนุมครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมมากถึง 250,000 คน และในการชุมนุมนี้เองที่มาร์ติน ลูเธอร์ คิง กล่าวสุนทรพจน์ I have a dream (ข้าพเจ้ามีความฝัน) ซึ่งสุนทรพจน์นี้เป็นการพูดในที่สาธารณะที่ได้รับการกล่าวขวัญว่าทรงพลังอย่างยิ่งมาจนถึงยุคปัจจุบัน

คิงกลายมาเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิดมากในสหรัฐ จนกระทั่งนิตยสาร ไทมส์ ยกย่องให้เขาเป็น “บุรุษแห่งปี” ในปี 1963

และในปี 1964 มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพด้วยวัยเพียง 35 ปี เขาไม่ได้มีบทบาทแค่ต่อต้านการเหยียดสีผิวเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านสงครามเวียดนามในปี 1968 อีกด้วย

หลังจากนั้น วันที่ 4 เมษายนปีนั้นเอง เขาก็ถูกลอบยิงเสียชีวิตขณะเขายืนคุยกับเพื่อนร่วมงานที่ริมระเบียงห้องพัก

ในปี 1983 ประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ได้ลงนามในประกาศทางการที่กำหนดให้ทุกวันจันทร์ที่ 3 ของเดือนมกราคมเป็นวัน มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการเพื่อเฉลิมฉลองให้ชายผู้นี้และทุกสิ่งที่เขายืนหยัดต่อสู้มา

และปัจจุบัน มีการติดแผ่นป้ายที่อนุสาวรีย์ลินคอล์นจุดเดียวกับที่คิงเคยกล่าวสุนทรพจน์ เพื่อให้เห็นว่า แม้เวลาจะผ่านไปนานเพียงใด สุนทรพจน์และการต่อสู้ของเขาก็ยังอยู่ในจิตใจผู้คนมากมายเสมอ

 

ขอบคุณเครดิตที่มา โดย....

https://th.m.wikipedia.org/wiki/มาร์ติน_ลูเทอร์_คิง_จูเนียร์

http://documentaryclubthailand.com/i-am-not-your-negro-article1/



 
Privacy Policy
Cookies Policy
บริษัท โกลด์ ฟิลด์ รีไฟเนอรี จำกัด 14 ซอยสุขาภิบาล2 ซอย31 แขวงดอกไม้ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร 10250 โทร. 0-2035-3888 แฟกซ์ 0-2035-3898